เตรียมรับมือ ไวรัสยอดฮิต เด็กๆ เป็นบ่อยช่วงหน้าหนาว

ลองมาดูกันว่าไวรัสยอดฮิตช่วงหน้าหนาวมีอะไรบ้าง เพื่อเตรียมรับมือ และระวังป้องกันได้ทันท่วงที

เด็ก หลายปีที่ผ่านมาเราต้องคอยระมัดระวังตัวกับโรคระบาด เมื่อเปลี่ยนฤดูกาลก็ยังต้องดูแลสุขภาพมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้ฤดูหนาวอย่างนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจำเป็นต้องใส่ใจสุขภาพของเด็กๆ มากยิ่งขึ้น เพราะไวรัสที่มากับฤดูหนาว อาจทำให้เด็กๆ เจ็บป่วยไม่สบาย จนส่งผลกระทบต่อการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันได้

ไวรัสกลุ่มโรคที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และหลอดลม

จะเรียกว่าเป็นโรคสุดฮิตในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลก็คงไม่ผิดนัก เพราะโรคในกลุ่มหลอดลมฝอยอักเสบ อันได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ และ RSV มักมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเชื้อไวรัส ส่งผลให้หลอดลมฝอยอักเสบ บวม เสมหะสะสม ส่งผลให้ปอดทำงานไม่ได้ตามปกติ และไม่สามารถระบายอากาศได้อย่างเหมาะสม

เด็ก ไวรัสยอดฮิต

  • ไข้หวัด (Common Cold) 

สาเหตุ: ร่างกายอ่อนแอ เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

อาการ: มีน้ำมูก คัดจมูก จาม มีไข้ต่ำๆ

การรักษา: ไข้หวัดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ก็จะสามารถหายเองได้ภายใน 3-4 วัน

  • ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

สาเหตุ: ได้รับเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) เข้าสู่ร่างกายทำให้ป่วย

อาการ: มีไข้ปานกลางถึงสูง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว อ่อนเพลีย บางรายอาจมีน้ำมูก และมีอาการไอร่วมด้วย

การรักษา: พบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาป้องกันอาการแทรกซ้อน หรือป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน

  • ปอดอักเสบ (Pneumonia)

สาเหตุ: ปอดติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้ไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ บางครั้งเรียกว่าโรคปอดบวม

อาการ: แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีเสมหะ ไอ มีไข้สูง

การรักษา: ควรพบแพทย์เพื่อรับยาตามความเหมาะสม ดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อช่วยลดเสมหะ

โรค RSV (Respiratory Syncytial Virus)

สาเหตุ: ได้รับเชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus ซึ่งมีสองสายพันธ์ุคือ RSV-A และ RSV-B เป็นไวรัสที่ทำให้ติดเชื้อทางเดินหายใจ พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี

อาการ: ในผู้ใหญ่มักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่สำหรับเด็กเล็กอาการอาจลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่าง (หลอดลม เนื้อปอด) ทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบและปอดอักเสบ มีอาการไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดหวิว หรือ เสียงครืดคราดในลำคอ

การรักษา: พบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ ในเด็กเล็กหากเสมหะเหนียวมาก อาจพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก

  • โรคครูป (Croup)

สาเหตุ: ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza), ไวรัส อาร์ เอส วี (RSV) และ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza) ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณกล่องเสียงลงไปจนถึงบริเวณหลอดลมส่วนต้น ส่งผลให้หลอดลมบวม ตีบแคบ

อาการ: ไอเสียงก้อง มีน้ำมูก หายใจเสียงดัง หากอาการรุนแรงอาจหายใจเสียงดัง หน้าอกบุ๋มเมื่อหายใจเข้า

การรักษา: หากอาการไม่รุนแรงแพทย์ให้ยาสเตียรอยด์โดยวิธีรับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือทางหลอดเลือดดำ หากอาการปานกลางถึงรุนแรงแพทย์อาจให้พ่นยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) ควบคู่กับการได้รับยาสเตียรอยด์ด้วย

ไวรัสกลุ่มที่ทำให้เกิดตุ่มที่ผิวหนัง

โรคที่เกิดในช่วงหน้าหนาว ซึ่งทำให้เกิดตุ่มแดงบริเวณผิวหนังส่วนใหญ่มักเกิดจากไวรัสสองตัวคือ ไวรัสวาริเซลลา (Varicella) ที่ทำให้เป็นโรคไข้สุกใส และ ไวรัสรูบิโอลา (Rubeola Virus) ที่ทำให้เป็นโรคหัด และหัดเยอรมัน มักเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงต้องดูแลและป้องกันตัวเองมากเป็นพิเศษ

  • โรคไข้สุกใส (Chickenpox) 

สาเหตุ: เกิดจากไวรัสวาริเซลลา (Varicella) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด

อาการ: มีไข้สูง ปวดหัว มีตุ่มแดงคันบริเวณผิวหนัง อ่อนเพลีย บางรายอาจเบื่ออาหาร

การรักษา: เป็นโรคที่หายเองได้ แพทย์มักให้ยารักษาตามอาการ เช่นให้ยาต้านไวรัสที่ช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้น