ดินแดนที่เราไม่เคยรู้จัก ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย

วันเสาร์สบายๆวันนี้ ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่อง “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” กันนะครับ

เรื่องนี้ผมนำมาจากบทความ “ก้าวสู่ดินแดนที่เราไม่เคยรู้จัก : ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย และเข็มทิศนโยบายฉบับกระชับ” ใน นิตยสารพระสยาม ฉบับล่าสุดของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกเล่าถึงนโยบายการเงินของ ธปท.แบบกระชับ

ดินแดนที่หนึ่ง–โลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการใช้พลังงานถ่านหินและน้ำมันสูงถึง 60% อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวได้ในปี 2591 จีดีพีจะเสียหายไปถึง 43.6% เกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลผู้ให้บริการในภาคการเงิน จึงได้กำหนดทิศทางและบทบาทของภาคการเงินให้สามารถตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น เช่น ให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ การทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (taxonomy) การจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นระบบเข้าถึงได้ และมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน เพื่อให้ประเทศไทยมี ข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อม ที่ใช้ร่วมกันทั้งในและนอกภาคการเงิน

ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย

สิ่งที่รออยู่ ณ ดินแดนใหม่ ภาครัฐสามารถดำเนินนโยบายได้ตรงจุด สามารถเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจต่างๆได้ดียิ่งขึ้น โดยมี Thailand Taxonomy เป็นมาตรฐานกลาง

ดินแดนที่สอง–ระบบการชำระเงินในวันที่สังคมไทยกำลังจะไร้เงินสด ข้อมูลปี 2564 มีธุรกรรมการเงินผ่าน digital payment กว่า 20,700 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 460 ล้านล้านบาท มีบัญชี e–money ทั้งหมด 116.2 ล้านบัญชี ขณะที่ผู้ใช้บริการที่สาขาธนาคารลดลง 22% ผู้ใช้บริการตู้เอทีเอ็มลดลง 8%

สิ่งที่รออยู่ ณ ดินแดนใหม่ คือ ประชาชนจะมีบริการ digital payment ให้เลือกใช้หลากหลายตรงความต้องการ มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ สามารถดูแลป้องกันภัยทางดิจิทัลได้ในเบื้องต้น ธุรกิจก็มีบริการชำระเงินที่ตอบโจทย์ และการเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น

ดินแดนที่สาม–ธนาคารพาณิชย์กับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ช่วง 3–4 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ดิจิทัล (digital assets) ได้รับความสนใจอย่างมาก เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ต้องพึ่งตัวกลางและไม่รวมศูนย์ เป็นเครื่องมือลงทุนแบบใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะสั้น ความท้าทายในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล คือ การสร้างความสมดุล ระหว่าง การส่งเสริมนวัตกรรม ควบคู่ไปกับ การบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น

ทิศทางที่ ธปท. จะไปคือ ใช้วิธีการกำกับดูแลกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจซับซ้อนที่อาจมีความเสี่ยงสูงทุกรูปแบบ เช่น บริษัทโฮลดิ้งเป็นบริษัทแม่ ธนาคารพาณิชย์เป็นบริษัทแม่เอง ยึดหลักการกำกับดูแลที่สอดคล้องตามระดับความเสี่ยง สิ่งที่รออยู่ ณ ดินแดนใหม่ คือระบบการเงินไทยจะปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเหมาะสม

ดินแดนที่สี่–แก้หนี้ครัวเรือน ปลดระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 2 ปี 2565 หนี้ครัวเรือนสูงถึง 88% ของจีดีพี ทิศทางที่ ธปท.จะไป คือ ทำแบบครบวงจร ตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ ขณะเป็นหนี้ และเมื่อมีปัญหาชำระเงิน รวมทั้งการแก้หนี้เดิมที่มีอยู่และดูแลการก่อหนี้ใหม่ แต่ แนวทางแก้หนี้ครัวเรือนที่ไม่ควรทำ คือ 1.พักชำระหนี้และพักดอกเบี้ยเป็นวงกว้างเป็นเวลานาน 2.ลบหรือแก้ประวัติข้อมูลในเครดิตบูโร

สิ่งที่รออยู่ ณ ดินแดนใหม่ คือเศรษฐกิจการเงินไทยจะเติบโตอย่างมั่นคงมีเสถียรภาพ สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบมากขึ้น ประชาชนได้รับสินเชื่อที่เป็นธรรมมากขึ้น ผู้เป็นหนี้สามารถปลดหนี้และความกังวลใจ ทำให้สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้คือ ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ดินแดนใหม่ที่เราต้องรู้จัก